โดยทั่วไป การเลี้ยงไก่แบบชาวบ้านแต่ละปีจะเกิดโรคระบาดเป็นสาเหตุทำให้ไก่ตายปีละมาก ๆ บางครั้งอาจตายเกือบทั้งหมู่บ้านทั้ง ๆ ที่ไก่บ้านเป็นพันธุ์ที่ค่อนข้างจะทนทานต่อโรคเมื่อเทียบกับพันธืแท้อื่น ๆ ก็ตาม ดังนั้นถ้าหากสามารถลดอัตราการตายได้จะยังผลทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่วนไก่ลูกผสมพันธุ์โรคกับไก่พื้นบ้านเมื่อจะนำไปเลี้ยงแบบชาวบ้านก็จำเป็นหาทางป้องกันโรคไว้ก่อนเสมอ โดยการฉีดวัคซีนป้องกันโรคที่สำคัญ ๆ



1. การทำวัคซีน
การทำวัคซีนจะเป็นการกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นต่อสู้กับสิ่งแปลกปลอมที่มีชีวิต ที่บุกรุกเข้าไป ดังนั้นวัคซีนก็คือสิ่งแปลกปลอมที่ถูกทำให้อ่อนแรงหรือถูกทำให้ตายแวก็ได้ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อหรือสิ่งแปลกปลอมเหล่านี้ก็จะเริ่มสร้างภูมิต้านทานขึ้นต่อต้านกับสิ่งแปลกปลอมชนิดนั้น ๆ ที่เจาะจง ซึ่งปัจจุบันมีวัคซีนหลายชนิดด้วยกันที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับป้องกันโรคไก่ แต่ก็มีโรคไก่อีกหลายโรคที่ยังไม่สามารถจะผลิตเป็นวัคซีนออกมาใช้ได้

ข้อควรปฏิบัติหรือข้อควรจำในขณะที่ให้วัคซีนไก่คือ
1. ต้องทำวัคซีนในขณะที่ไก่อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และแข็งแรงเท่านั้น
2. ควรทำวัคซีนในขณะที่อากาศเย็นสบาย คือ ช่วงเช้า หรือเย็น การทำวัคซีนในขระที่อากาศร้อน จะสร้างภาวะเครียดให้กับไก่เพิ่มขึ้นและอาจก่อให้เกิดความสูญเสียได้มาก
3. การให้วัคซีนควรปฏิบัติตามคำแนะนำของชนิดวัคซีนนั้น ๆ ว่าจะให้ได้ในทางใดบ้าง เช่น ให้โดยวิธีการแทงปีก หรือวิธีการหยอดจมูก
4. ก่อนและหลังการทำวัคซีน 1 วัน ควรละลายยาป้องกันความเครียดให้ไก่กิน
5. วัคซีนควรเก็บไว้ในตู้เย็นหรือตู้แช่แข็งตามชนิดของวัคซีนนั้น ๆ
6. วัคซีนที่ผสมเสร็จแล้วควรรีบนำไปให้ไก่ทันที ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้นาน เพราะวัคซีนจะเสื่อม และไม่ควรให้แสดงแดดส่องถูกวัคซีนโดยตรง
7. ขวดวัคซีนที่ใช้แล้วควรนำไปฝังดินลึก ๆ หรือนำไปเผาหรือต้มให้เดือดก่อนทิ้ง
8. ควรจำไว้ว่าการทำวัคซีนนั้นไม่ได้หมายถึงว่าจะให้ผลป้องกันโรคได้ 100 เปอร์เซ็นต์ เพราะผลที่ได้ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ อีกมาก

วัคซีนไก่ชนิดต่าง ๆ ที่สำคัญ ๆ และเกษตรกรควรทราบมีดังนี้

1.1 วัคซีนป้องกันโรคนิวคาสเซิล หรือที่ชาวบ้านนิยมเรียกกันว่า โรคกะลี้หรือโรคห่า ซึ่งสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส ถ้าเกิดโรคระบาดขึ้นอัตราการตายจะสูงมาก บางครั้งอาจตายหมด วัคซีนชนิดนี้แบ่งได้เป็น 2 ชนิด คือ

1.1.1 สเตรน เอฟ (F)เป็นชนิดที่ใช้ทำในระยะลูกไก่ อายุลูกไก่ที่เหมาะสำหรับการทำวัคซีนชนิดนี้คือ อยู่ระหว่าง 1-3 สัปดาห์ วิธีการให้จะทำโดยการหยอดตาหรือหยอดจมูก

1.1.2 สเตรน เอ็ม พี (MP) เป็นชนิดที่ใช้สำหรับไก่ที่เคยผ่านการทำวัคซีนนิวคลาสเซิล เสตรน เอฟมาก่อน วิธีการให้โดยใช้ฉีดเข้ากล้ามเนื้อหรือแทงปีก

1.2 วัคซีนป้องกันโรคหลอดลมอักเสบ เป็นวัคซีนที่ใช้ป้องกันโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัส เช่น กัน อายุไก่ที่เหมาะสำหรับการทำวัคซีนชนิดนี้คือ 1-3 สัปดาห์ อาการที่พบคือลูกไก่มักจะยืนอ้าปากหายใจ ถ้าเปิดซากพิสูจน์ จะพบว่า บริเวณหลอดลมที่ส่วนคอจะมีรอยเลือดสีแดงเข้มการให้วัคซีนชนิดนี้ทำโดยวิธีหยอดจมูก หรือหยอดตา

1.3 วัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ โรคนี้มีสาเหตุเกิดจากเชื้อไวรัส มักพบแพร่ระบาดอยู่ทั่วไป เพราะยุงจะเป็นพาหะของโรค อัตราการตายอันเนื่องจากโรคนี้ไม่สูงมากนักแต่ความแข็งแรงของไก่จะลดง ซึ่งเป็นผลทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนได้ ไก่ที่เกิดโรคนี้ไม่สามารถที่จะจำหน่ายได้ เพราะตามบริเวณหน้าและแข้งขาจะเป็นตุ่มเล็ก ๆ กระจายไปทั่วตัวทำให้ดูน่าเกลียด การทำวัคซีนชนิดนี้สามารถทำควบคู่พร้อมกับวัคซีนนิวคลาสเซิล หรือหลอดลมอักเสบอย่างใดอย่างหนึ่งได้ การใช้วัคซีนชนิดนี้จะใช้วิธีการแทงปีก และให้เพียงครั้งเดียวไก่ก็สามารถสร้างภูมิต้านทานโรคได้ตลอดชีพ ซึ่งต่างจากวัคซีนนิวคลาสเซิลและหลอดลมอักเสบ ที่จำเป็นต้องทำเป็นระยะ ๆ

2. การใช้ยาปฏิชีวนะ

2.1 สภาวะเครียด อัตราความสูญเสียของการเลี้ยงไก่โดยปล่อยให้หาอาหารตามธรรมชาติเองนั้น มีส่วนหนึ่งที่เนื่องมาจากความแปรปรวนของอากาศที่จะทำให้ไก่เกิดสภาวะเครียด เป็นเหตุให้ไก่ต้องปรับสภาพร่างกาย ตัวไหนปรับไม่ทันย่อมแสดงอาการป่วย ภูมิคุ้มกันในร่างกายลดลง ทำให้เกิดการติดเชื้อโรค และตายในที่สุด

สาเหตุต่าง ๆ ที่ก่อให้เกิดภาวะเครียดกับไก่นั้นมีดังนี้

อากาศร้อนจัดแล้วเปลี่ยนเป็นฝนตกทันที
ลมกรรโชกรุนแรงตลอด
การไล่จับไก่ที่อาจเกิดจากการกระทำของมนุษย์หรือของสัตว์ชนิดอื่น
ไก่ได้กินอาหารไม่เพียงพอ
การทำวัคซีนไก่
การนำไก่จากต่างถิ่นมาเลี้ยงรวมกัน
เปลี่ยนอุปกรณ์การเลี้ยงไก่อย่างกระทันหัน
ไก่ที่เริ่มแสดงอาการป่วย เป็นต้น

สภาวะเครียด ในไก่สามารถป้องกันได้โดยการใช้ยาปฏิชีวนะ หรือพวกไวตามินรวมละลายน้ำให้ไก่ดื่มล่วงหน้าก่อนหรือในวันที่พบว่าไก่ได้เผชิญกับสิ่งที่ทำให้เกิดความเครียดขึ้นแล้ว การใช้ยาป้องกันสภาวะเครียดจะส่งผลทำให้การเจริญเติบโตของไก่เป็นไปด้วยดี ไม่ชะงักงัน ซึ่งจะช่วยให้อัตราการเลี้ยงรอดสูงขึ้น และได้ไก่ที่มีคุณภาพดีด้วย

2.2 โรคหวัด โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียกและมักพบว่าเป็นปัญหาต่อการเลี้ยงไก่บ้านมาโดยตลอด โดยเฉพาะในฤดูฝน คือ โรคหวัด อาการที่พบคือ ตาหรือหน้าจะบวม ในโพรงจมูกจะอุดตันด้วยเมือกที่มีกลิ่นเหม็นคาว การรักษาควรใช้ยาตระกูลซัลฟา หรือยาปฏิชีวนะละลายน้ำให้กินติดต่อกัน 3-5 วัน

2.3 โรคพยาธิ โรคอื่น ๆ ที่พบบ่อย ๆ ในการเลี้ยงไก่แพื้นบ้านคือโรคที่เกิดจากพยาธิภายนอก เช่น เหา ไร และพยาธิภายใน การป้องกันโรคพยาธิคงทำได้ยาก เพราะต้องปล่อยไก่ออกหาอาหารเองตามธรรมชาติ ซึ่งไก่ย่อมได้รับไข่พยาธิที่แพร่กระจายอยู่ตามพื้นดินเข้าไป แต่การป้องกันรักษาก็ยังพอทำได้

การรักษาโรคพยาธิภายนอกอาจทำได้โดยการจับไก่จุ่มลงในน้ำที่ละลายด้วยยาฆ่าแมลงพวก เซฟวิ่น ความเข้มข้น 0.5 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำ 1 แกลลอน หรือใช้มาลาไธออน 1 เปอร์เซ็นต์ต่อน้ำ 1 แกลลอนก็ได้ การจับไก่จุ่มควรใส่ถุงมือยางให้เรียบร้อยเพื่อป้องกันไม่ให้ยาถูกดูดซึมผ่านเข้าทางผิวหนังของมนุษย์ ในระหว่างการจุ่มยานั้นควรใช้มือลูบย้อนขนไก่ เพื่อให้ยาส่วนมากแทรกซึมเข้าไปตามซอกขนไก่

การกำจัดพยาธิภายในก็ใช้ยาถ่ายพยาธิผสมในอาหารให้ไก่กินซึ่งประสิทธิภาพของยาถ่ายพยาธิแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน บางชนิดมีประสิทธิภาพเพียงแค่ขับพยาธิออกจากร่างกายเท่านั้น แต่บางชนิดจะมีประสิทธิภาพในการฆ่าพยาธิได้ ซึ่งการเลี้ยงไก่แบบพื้นบ้านนี้ควรถ่ายพยาธิโดยใช้ยาที่สามารถฆ่าพยาธิได้เพื่อป้องกันไม่ให้พยาธิที่ถูกขับออกมาแต่ยังไม่ตายกลับเข้าไปในตัวไก่ได้อีก