Beauty Built In

 

เรื่องและภาพโดย พรชัย พงษ์สุกิจวัฒน์

 

Click to enlarge

หลักการตกแต่งบ้านให้ดูสวยงามแบบง่าย ๆ แบบหนึ่งก็คือการเก็บข้าวเก็บของให้เรียบร้อยเป็นระเบียบ ทำให้บ้านแลดูงามตาแค่นี้ มองไปทางไหนก็สบายตา จากนั้นจะใส่ “สไตล์” อะไรลงไปก็เป็นเรื่องของรสนิยมแล้ว คำแนะนำอย่างหนึ่งสำหรับหลักการนี้ก็คือ “เฟอร์นิเจอร์แบบ Built In”

“ผมว่าบ้านที่ให้ความรู้สึกน่าอยู่นั้นไม่ใช่แค่ความสวยงามจากการออกแบบของสถาปนิกเท่านั้นนะครับ” คุณสิทธิพงษ์ จิตสัตย์ซื่อ สถาปนิกหนุ่มขี้เล่นแห่ง Adverb ให้ความเห็น “การทำให้บ้านรู้สึกน่าอยู่ต้องจัดเก็บข้าวของในบ้านให้ดีควบคู่กันไปด้วย”

นั่นอาจจะรวมไปถึงเฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้ภายในบ้านด้วย โดยธรรมชาติของเฟอร์นิเจอร์แบบ Built In นั้นดูเก๋ ทันสมัย สามารถเก็บข้าวของให้เป็นระเบียบเรียบร้อยแลดูสะอาดตาและช่วยให้ก่อเกิดความยืดหยุ่นในการใช้พื้นที่ได้ด้วย จึงน่าจะช่วยตอบโจทย์เรื่องการจัดบ้านให้แลดูเป็นสัดเป็นส่วนได้

 

Click to enlarge

“เฟอร์นิเจอร์แบบ Built In ทำให้คุณสามารถใช้พื้นที่ได้คุ้มค่ามาก ผมยกตัวอย่างนะครับ อย่างถ้าคุณทำให้ผนังทั้งด้านเป็นส่วนจัดเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ล่ะก็ จะทำให้คุณได้พื้นที่ใช้สอยภายในห้องนั้นถึงร้อยเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว” สถาปนิกหนุ่มว่า

อย่างไรก็ตาม ใช่ว่าจะมีแต่เพียงข้อดีด้านเดียว ข้อเสียของเฟอร์นิเจอร์แบบ Built In ก็คือ “การติดตั้งเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ ราคาค่อนข้างสูงครับ” นอกจากนี้ยังต้องใช้เวลาในการติดตั้งค่อนข้างมากด้วย เมื่อติดตั้งแล้วก็ไม่สามารถจะเคลื่อนย้ายได้อีก อย่างไรก็ตามข้อดี-ข้อเสียทุกอย่างเป็นไปในแบบตรงกันข้ามกับเฟอร์นิเจอร์ลอยตัว

“ตรงนี้คงต้องตัดสินใจเลือกกันเอาเองครับ คิดถึงข้อดีข้อเสียแต่ละอย่างว่าคุณต้องการเฟอร์นิเจอร์ในรูปแบบไหน อยู่ที่รสนิยม, งบประมาณ แล้วก็สไตล์ของการตกแต่งบ้านครับ” สถาปนิกหนุ่มว่า สำหรับสไตล์ที่เหมาะกับเฟอร์นิเจอร์แบบ Built In ที่สุดก็คือสไตล์โมเดิร์นนั่นเอง

 

Click to enlarge

ทีนี้หากคุณตัดสินใจเลือกเฟอร์นิเจอร์ Built In แล้วล่ะ? ก็ลงมือติดตั้งกันเลยสิ วิธีง่าย ๆ ของการติดตั้งนั้นเริ่มต้นด้วยการคำนวณพื้นที่ที่ต้องการใช้ประโยชน์ก่อน สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือจะใช้ประโยชน์อะไรจากพื้นที่บริเวณนั้นบ้าง และจะมีกิจกรรมอะไรเกิดขึ้นในบริเวณนั้น

“วิธีทำให้ขั้นตอนนี้ง่ายที่สุดก็คือลองเขียนผังพื้นแบบคร่าว ๆ หรือแพลนดู โดยเขียนเป็นตาราง จากนั้นก็วาดข้าวของใส่ลงไปโดยคำนึงถึงความสูงของห้องควบคู่ไปด้วยครับ” สถาปนิกหนุ่มว่า เมื่อได้ขนาดพื้นที่แล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการหาพื้นที่ที่เหมาะสมกับขนาดพื้นที่ที่เราคำนวณมา

ขั้นตอนนี้ให้วัดขนาดความกว้าง, ความยาว, ความสูงให้ครบ จากนั้นลองขีดเส้นกำหนดจุดของเฟอร์นิเจอร์ Built In ที่ต้องการลงบนผนัง, พื้นและเพดาน เมื่อเสร็จแล้วก็สามารถลงมือติดตั้งเฟอร์นิเจอร์แบบ Built In ที่สั่งทำไว้ได้เลย

 

Click to enlarge

“แต่ขั้นตอนที่ว่ามาทั้งหมดนั้น ปัจจุบันแทบไม่ยุ่งยากอะไรเลยครับ” คุณสิทธิพงษ์ว่า “เพราะบริษัทผู้ผลิตเฟอร์นิเจอร์เขาช่วยลดขั้นตอนความยุ่งยากทั้งหมดที่ว่ามาด้วยการทำหน้าที่ทุกขั้นตอนให้เจ้าของบ้าน เพียงแค่บอกความต้องการของพื้นที่และกิจกรรมภายในบริเวณนั้นกับเค้าเท่านั้น”

สิ่งสำคัญจึงกลายเป็นว่าเราจะใช้วัสดุอะไรทำเป็นโครงสร้างของเฟอร์นิเจอร์ Built In คำตอบของสถาปนิกหนุ่มก็คืออยู่ที่ว่าจะใช้งานอะไร ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วมักทำด้วยไม้เนื้อแข็ง แต่ในส่วนที่ต้องรับน้ำหนักมาก ๆ เช่นชั้นวางหนังสือ ควรเสริมโครงสร้างเหล็กเข้าไปเพิ่มความมั่นคงจะดีกว่า

ส่วนวัสดุปิดผิวนั้นก็ควรเลือกให้เหมาะสมกับพื้นที่ใช้สอยเช่นกัน อย่างไม้จริงนั้นควรใช้กับบริเวณที่แห้ง บริเวณที่ต้องการโชว์ความสวยงามของเนื้อไม้เนื่องจากมีความสวยงาม ทนทาน แต่ดูแลยาก ส่วนไม้เทียมปิดผิวด้วยลามิเนตนั้นควรใช้บริเวณที่แห้งเช่นกัน เพียงแต่ว่าราคาถูกกว่าและแน่นอนทนทานน้อยกว่า

 

Click to enlarge

“ส่วนพวกแตนเลสเอย กระเบื้องเคลือบเซรามิคเอย หินสังเคราะห์เอย หินแกรนิตเอย พวกนี้เหมาะกับบริเวณเคาน์เตอร์ครัว บริเวณที่ต้องใช้งานหนักหรือต้องโดนน้ำบ่อย” สถาปนิกหนุ่มว่า สำหรับการดูแลรักษาเฟอร์นิเจอร์แบบนี้ไม่ยากนักเพียงเช็ดถูให้สะอาดและอย่าทิ้งให้ชื้นก็เพียงพอ

“ทริคอีกอย่างของการตกแต่งด้วยเฟอร์นิเจอร์ Built In ก็คือในบริเวณที่แคบ ผมแนะนำว่าใช้กระจกเงาร่วมด้วยช่วยกัน จะเป็นการสร้างหรือเพิ่มพื้นที่ว่างทางสายตาให้กับห้องที่มีขนาดเล็กได้เป็นอย่างดีครับ” คุณสิทธิพงษ์แนะนำ

ก็ถือว่าเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของเฟอร์นิเจอร์ที่นอกจากจะสร้างความสวยงาม แลดูเรียบร้อยแล้ว ยังเหมาะกับวิถีชีวิตแบบปัจจุบันที่ผู้คนหันมาอยู่คอนโดกันเพิ่มขึ้นด้วย เป็นการดัดแปลงพื้นที่เล็ก ๆ ให้ใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยจริง ๆ